เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เหนือ (เดือน ๖) ของทุกๆ ปี พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ จะถือเป็นประเพณีที่ต้องเตียว (เดิน) ขึ้นดอยสุเทพ เพื่อสักการะพระบรมธาตุ บนวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร รวมทั้งทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ รักษาศีล เจริญภาวนา ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา ในคืนนั้นถนนศรีวิชัย อันเป็นเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร สว่างไสวไปด้วยแสงไฟ นำหน้าด้วยขบวนรถบุษบก อัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน และรูปเหมือนครูบาศรีวิชัย ท่ายืนสูงเท่า องค์จริง แกะด้วยไม้สักทอง ส่วนขบวนประชาชน บางกลุ่มเดินถือริ้วธง และตุงไชย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา พร้อมกับแห่แหนด้วยท่วงทำนองเร้าใจ นอกจากนี้ยังมีการ กำหนดจุดสำคัญไว้ ๓ จุด คือ บริเวณวังบัวบาน จะแสดงความสำคัญของวันประสูติ หน้าวัดผาลาด เป็นจุดแสดงวันตรัสรู้ และศาลาชมวิว แสดงวันปรินิพพาน เรียกความสนใจ จากเยาวชน และประชาชน ให้เข้าไปศึกษาหาความรู้ และพักเหนื่อยได้อย่างดียิ่ง
![]() |
ความเป็นมาของประเพณีเตียวขึ้นดอยมีดังนี้ ในปี ๑๙๑๖ พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ในราชวงศ์มังราย ลำดับที่ ๖ ร่วมกับพระมหาสวามี (พระสุมนเถระ) ได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นหลังช้างเผือกมงคล โดยตั้งสัจจาธิษฐานว่า "เมื่อช้างได้นำพระบรมธาตุถึงที่ๆ เหมาะสม สำหรับเก็บรักษาพระบรมธาตุนี้แล้วไซร้ ขอพระธาตุได้แสดงอภินิหารบังคับให้ช้าง หยุดตรงนั้นเถิด" จากนั้นก็ปล่อยให้ช้างเดินออกไปทางประตูช้างเผือก มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกขึ้นไปทางภูเขา ระหว่างนั้น พระเจ้ากือนา กับพระมหาสวามีพร้อมด้วยประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาก็เดินตามช้างไปตลอด เมื่อช้างเดินขึ้นไปถึงเชิงเขาสุเทพ ได้หยุดและเปล่งเสียงร้อง ๓ ครั้ง แล้วเดินปีนขึ้นไปบนยอดเขา เมื่อถึงที่โล่งกว้าง ก็เดินวนซ้าย ๓ รอบ และหยุดคุกเข่าหมอบลง พร้อมกับเปล่งเสียงร้องอีก ๓ ครั้ง พระเจ้ากือนา กับพระมหาสวามีจึงได้อัญเชิญพระธาตุลงจากหลังช้าง บรรจุไว้ ณ ที่ตรงนั้น โดยขุดหลุมลึก ๘ ศอก กว้าง ๑ วา ๓ ศอก และได้นำเอาแผ่นหินขนาด ๗ศอก มาทำเป็นหีบ เอาผอบพระธาตุพร้อมด้วยเครื่อง ราชสักการบูชาจำนวนมากใส่ลงในหีบนั้น ก่อนสร้างพระเจดีย์สูงขนาด ๕ วาครอบไว้ เพื่อให้เป็นที่เคารพบูชาแก่คนทั้งปวง |
สำหรับประเพณีสรงน้ำพระธาตุนั้น พระญาณสมโพธิ (ธงชัย สุวณฺณสิริ) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ ให้ข้อมูลว่า พระบรมธาตุดอยสุเทพ เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป และพระมหากษัตริย์ก็เสด็จฯ มาสักการะเสมอ ในประเพณีสรงน้ำ พระธาตุในวันวิสาขบูชาทุกปี ควรจะขอพระราชทานน้ำสรง เพื่อถวายพระบรมธาตุดอยสุเทพ เหมือนพระธาตุตามวัดสำคัญทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน ๘ วัด จึงได้ทำหนังสือขอไปยังสำนักพระราชวัง แต่เนื่องจากตามระเบียบ พระธาตุ ที่สมควรได้รับ พระราชทานน้ำสรง ต้องมีอายุตั้งแต่ ๑,๐๐๐ ปี ขึ้นไป ขณะที่พระบรมธาตุดอยสุเทพนั้น มีอายุ ๖๐๐ ปีเศษ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯเป็นกรณีพิเศษ เป็นวัดลำดับ ๙ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา
วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ กำหนดจัดงานไหว้สาป๋าระมี สรงน้ำพระราชทางพระบรมธาตุดอยสุเทพ เนื่องในวันวิสาขบูชา
ประจำปี 2550 ซึ่งในปีนี้จะยิ่งใหญ่กว่าทุกปีเพื่อเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดจัดงานวันที่
24-30 พฤษภาคม 2550 ณ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพฯ ทุกวันจะมีการทำวัตรเช้า ทำบุญตักบาตร พระธรรมเทศนาพื้นเมือง ถวายภัตตาหารเพล
พระภิกษุสามเณร 81รูป และนิมนต์หัววัดรับทักษิณา 81 รูป พิธีสำคัญที่สุดคือวันก่อนวันวิสาขบูชา(ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม) พุทธศาสนิกชน
ชาวเชียงใหม่และใกล้เคียงจำนวนมากจะเดินทางเป็นขบวนแห่แหนมาร่วมกันน้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการเดินเท้าขึ้นดอย
จากลานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเวลาประมาณ 21.00 น. ถึงวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพฯ ใกล้สว่างอันเป็นวันวิสาขบูชา (วันที่ 31 พฤษภาคม) ตั้งแต่
เวลา 06.00 น. มีพิธีสมาทานศีล สวดถวายพรพระ ทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณร 801 รูป เวลา 15.00 น.มีพิธีสรงน้ำพระราชทานองค์พระบรมธาตุ
ดอยสุเทพและประกอบพิธีเวียนเทียน
|
![]() |
ที่มาของข้อมูล "งานไหว้สาป๋าระมี วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพฯ" 2550. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ : 28 พฤษภาคม 2550 จาก http://www.muangthai.com/mnews/index.php?mod=article&cat=Travel&article=215
งานไหว้สาป๋าระมี วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพฯ วันที่ 24-30 พฤษภาคม 2550 ณ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพฯ จังหวัดเชียงใหม่ |
|