การถวายเทียนเข้าพรรษาของชาวล้านนาไทยนิยมทำกันมาช้านานแล้ว เรียกว่าถวาย "ผะตี๊ดเทียนไฟ" แต่ทำถวายเป็นการส่วนตัว พอถึงเวลาก็พาลูกหลานภายในครอบครัวไปถวาย 
ไม่ได้ทำเป็นการเอิกเกริกเป็นส่วนรวม ดังเช่นที่ทำกันในปัจจุบันนี้
ค่านิยมของการถวายเทียนเข้าพรรษาของชาวล้านนา มีดังนี้
1. เพื่อใช้จุดเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ในระหว่างพรรษา
2. เพื่อให้ความสว่างเวลามีพิธีกรรมทางศาสนาในเวลากลางคืน เช่น การสวดมนต์ และการเทศน์ซึ่งต้องอ่านจากคัมภีร์ธรรม
3. เพื่อให้เป็นเครื่องส่องสว่างเวลาพระเณรในวัดศึกษาท่องพระธรรมวินัย ในเวลากลางคืน
4. เพื่อความสุขจากบุญกุศลที่ได้ทำบุญถวายเทียน ซึ่งมุ่งหวังให้มีปัญญาสว่างไสว ชีวิตจะได้รุ่งโรจน์เปรียบเหมือนแสงเทียน
5. เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ
เทียนพรรษา แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1. เทียนหลวง หมายถึงเทียนที่ทำขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป ขนาเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 8 นิ้ว
2. เทียนหน้อย หมายถึงเทียนขนาดเล็ก คือ ขนาดโตกว่าเทียนไขธรรมดาเล็กน้อย แต่ก็จัดว่ามีขนาดใหญ่กว่าธรรมดา
    เทียนหน้อย สำหรับถวายเข้าพรรษา ใช้ด้ายดิบซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับด้ายสายสิญจน์ ขนาดของด้ายมากน้อยแล้วแต่ขนาดความใหญ่และความสูงของเทียนไม่ได้กำหนดตายตัว
จะนับเส้นเท่าอายุก็ได้นำขี้ผึ้งอย่างดี คือขี้ผึ้งแท้ ขี้ผึ้งที่มีขายตามท้องตลาดเรียกว่าขี้ผึ้งไม่แท้เพราะเจือปนกับสิ่งอื่นเช่น ไขวัว-ควาย เพื่อต้องการให้ราคาถูกลง และคุณภาพก็คงเลวลง
ด้วย ถ้าเป็นขี้ผึ้งดีแล้ว เมื่อดมดูจะมีกลิ่นหอม เวลาจุดเทียนก็จะค่อยๆ ไหม้ลามไปทีละน้อย ไม่มีน้ำตาเทียนมากด้วย เมื่อได้ขี้ผึ้งดีมาแล้วเอามาหั่นเป็นแผ่นบางๆใส่ในภาชนะ เช่น
ถาดเคลือบ หรือจานสังกะสี นำไปไว้กลางแดดเพื่อให้ขี้ผึ้งอ่อนตัวลง แล้วจึงนำมาแผ่เป็นแผ่นบางๆประกบรอบๆ ไส้เทียนทเตรียมไว้ เหลือตรงปลายให้ไส้สีเทียนโผล่ขึ้นมาจะใช้สำหรับจุด 
แล้วนำไปคลึงบนแผ่นกระดานหรืออะไรก็ได้ที่เป็นแผ่นราบ เพื่อให้เทียนกลมกลึง สวยงาม ก็จะได้เทียนสำหรับถวายเข้าพรรษาตามต้องการ
     คำกล่าวถวยเทียนเข้าพรรษา
นโม (3จบ)
อิมัง  ภันเต พุทธะปูชายะ วัสสะคะตัง ปะทีปัง สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต สังโฆ อิมัง วัสสะคะตัง ปะทีปัง ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญจะ 
มาตา ปิตุ อาทีนัญจะ เปตานัง สัพพะวัญจะ อัมหากัญจะ เทวะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
         
ที่มาของข้อมูล
   
 มณี พยอมยงค์.2529.ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย.เชียงใหม: ส.ทรัพย์การพิมพ์

หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก

ปรียานุช อนุสุเรนทร์.2540."การศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์ที่ใช้เทศน์ในเทศกาลเข้าพรรษาของล้านนา".วิทยานิพนธ์ปริญญา
        มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สงวน โชติสุขรัตน์.2525.ประเพณีลาานาไทยและพิธีกรรมต่างๆ.เชียงใหม่ : ประเทืองวิทยา

มณี พยอมยงค์.2529.วัฒนธรรมล้านนาไทย.เชียงใหม่ : ไทยวัฒนาพานิช