สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกหรือสมเด็จพระราชบิดาขณะทรงพระยศนายเรือโทได้เคยเสด็จมาจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกและเมื่อทรงพระยศ 
นายเรือเอกได้เสด็จมาจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อทรงเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ราวปี 2467 พระองค์ทรงพระดำริว่ากิจการแพทย์และสาธารณสุขมีความสำคัญต่อประเทศไทย 
ในขณะนั้น เป็นอย่างมากและนับวันจะยิ่งสำคัญขึ้น จึงได้ทรงศึกษาต่อวิชาการ ด้านสาธารณสุขศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์จากที่มหาวิทยาลัย Harvard  สหรัฐอเมริกา
         เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปี 2471  ทรงมีพระราชประสงค์จะทำหน้าที่แพทย์ ทรงระลึกถึงโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
เชียงใหม่ที่เคยได้เสด็จ ไปทรงเปิด จึงทรงแจ้งพระราชประสงค์ไปยังนายแพทย์ อี ซี คอร์ท ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
ในขณะนั้น แน่นอนว่าเมืองเชียงใหม่จะตื่นเต้นเพียงไรเมื่อทราบข่าวนี้หมอจันทร์แดง เมธา  ซึ่งเป็นแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาล
แมคคอร์มิค เชียงใหม่ บันทึกความทรงจำครั้งนั้นไว้ว่า เมื่อหมอคอร์ท เกริ่นข่าวได้ทุกคนในโรงพยาบาลไว้ล่วงหน้า 2-3 เดือน 
ว่าจะมีนายแพทย์สมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดลฯ ซึ่งเป็นโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาเป็นนายแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ข่าวนี้เป็นที่ยินดีและกล่าวขานในชาวแมคคอร์มิคเป็นอันมากและข่าวนี้ก็ได้แพร่ไปทั่วสังคมในเชียงใหม่ 

แต่เรื่องนี้ก็เงียบหายไปหลายเดือนจนคิดว่าจะไม่ทรงเสด็จมาแล้ว อยู่มาคืนหนึ่ง หมอคอร์ท ได้เรียกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
ประชุมบอกว่าพระองค์ท่านจะเสด็จมาถึงพรุ่งนี้  รุ่งเช้าเวลา 07.00 น.ของวันที่ 25 เมษายน 2472 ชาวแมคคอร์มิคยืนคอยกันอยู่
ู่ด้านล่างของ โรงพยาบาลและมองไปยังด้านบ้านของหมอคอร์ทซึ่งอยู่ไม่ไกล คอยแล้วคอยเล่าก็ไม่เห็นมีทหาร ตำรวจและองครักษ์ กองเกียรติยศหรือผู้ติดตาม บ้านของหมอคอร์ทก็ยังเงียบเหมือน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น 
 
  
         พอถึงเวลา 08.00 น. หมอคอร์ทเดินเข้าประตูโรงพยาบาลมีชายไทยคนหนึ่ง เดินเคียงข้างมาด้วย ชายผู้นั้นสวมเสื้อราชประแตนสีขาว ไม่มีเหรียญตราอะไรติดอกเลยแม้แต่เหรียญ
เดียว สวมกางเกงฝรั่งสีขาว สวมหมวกบนศีรษะอย่างคนอังกฤษ เมื่อเดินเข้ามาถึงแถวที่ ชาวแมคคอร์มิคยืนอยู่หมอคอร์ทก็บอกว่า “พระองค์ท่านเสด็จมาถึงเราแล้ว”หมอจันทร์แดงบันทึกต่อว่า 
หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จเข้าตึกผู้ป่วย   พวกที่ติดตามไปด้วย คิดว่าพระองค์ท่านจะท้าวเอวมองดูหมอคอร์ทตรวจผู้ป่วย   แต่พระองค์ท่านหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระองค์ท่านทรงล้วงกระเป๋าฉลอง
พระองค์หยิบหูฟังขึ้นมาแล้วทรงเปิดเสื้อผู้ป่วย อย่างคล่องแคล่ว ทรงเปิดหนังตาของผู้ป่วยทอดพระเนตรที่ตาขาว พวกที่ติดตามหันหน้ามามองกันอย่างภูมิใจ เป็นอันมาก พระองค์ท่านทรงเปิด
ท้องผู้ป่วยทรงคลำและรับสั่งกับหมอคอร์ทว่า “มาลาเรียที่นี่ชุกชุมเต็มที่นะ” หมอคอร์ท กราบทูลว่าชุกชุมมากอย่างน่ากลัว  
          หมอจันทร์แดงจำได้ว่าพระองค์ท่านสั่งให้ผู้ป่วยแลบลิ้นแต่ผู้ป่วยเฉย พระองค์จึงแลบ พระชิวหาออกมาเป็นตัวอย่าง 
เมื่อผู้ป่วยเห็นดังนั้นก็แลบลิ้นออกมา พระองค์ทอดพระเนตร แล้วรับสั่งกับพวกที่ติดตามว่าเป็นช็อก ซึ่งภาษาเหนือว่าเป็นขาง แท้จริงที่ผู้ป่วยไม่แลบลิ้นออกมา ใช่ว่าผู้ป่วยจะดื้อ แต่เป็นเพราะว่าผู้ป่วยไม่เข้าใจภาษากลางที่พระองค์ตรัส ซึ่งภาษาพื้นเมือง ใช้ว่า “ลอกลิ้น” มาถึงผู้ป่วยที่มีแผล ผู้ติดตามจะเปิดแผลผู้ป่วยให้ พระองค์ท่านยื่นพระหัตถ์มาเปิดด้วย พระองค์เอง  เมื่อทรงตรวจผู้ป่วย
ทุกตึกแล้ว ก็เป็นเวลา 10.00 น.พระองค์ท่านก็เสด็จออกตรวจ ผู้ป่วยภายนอก ซี่งอยู่อีกตึกหนึ่ง ผู้ป่วยที่นี่จะแต่งตัวสกปรก
มอมแมมไม่เหมือนผู้ป่วยกรุงเทพฯ   บางคนบาดแผลมีกลิ่นแรง  เด็กๆ ร้องเสียงดัง แต่พระองค์ท่านไม่รังเกียจประการใด พระองค์ท่านทรงใช้หูฟังตรวจด้วยความตั้งพระทัย ทรงตรวจไปถามผู้ป่วยไปต่างๆ นานา แต่การตรัสถามและคำตอบที่พระองค์ท่าน
ได้รับเกิดการขลุกขลัก เพราะผู้ป่วยไม่เข้าใจภาษากลาง และพระองค์ท่านก็ไม่เข้าพระทัยในภาษาเหนือ
                    “เท่าที่สังเกตดูพระองค์จะสนใจผู้ป่วยอย่างจริงจัง อย่างผู้ป่วยที่มีปัญหาทางลำไส้ก็จะส่ง Stool to Lap ทันทีและพระองค์ท่านจะไม่คอยรับผล Lap จากเจ้าหน้าที่ 
พระองค์จะเสด็จไปดูที่ห้อง Lap โดยพระองค์เอง พระองค์ท่านทรง Microscope เอง แล้วพระองค์จะรักษาผู้ป่วยเอง ในรายที่พระองค์ท่านสงสัยป่วยเป็นวัณโรค พระองค์จะนำ Sputum 
ไปย้อมสีทำเอง เพราะเครื่อง X-Ray และเจ้าหน้าที่ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญ พระองค์ท่านจึงไม่อาศัยผลจากการ X-Ray ด้านการผ่าตัด พระองค์ท่านจะเข้าร่วมห้องผ่าตัดกับหมอคอร์ทเสมอ”  
                     หมอจันทร์แดงเล่าด้วยว่าขณะนั้นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิคมีน้อยมาก งานทุกอย่างต้องช่วยกันทำ  มีวันหนึ่งขณะที่หมอจันทร์แดง กำลังอุ้มผู้ป่วยซึ่งมีร่างใหญ่
่อย่าง ทุลักทุเล พระองค์ท่านได้เข้ามาช่วยพยุงเดินตาม บังเอิญหมอจันทร์แดงไถลไปเหยียบเอา พระบาทพระองค์ท่าน หมอจันทร์แดงตกใจและเสียใจมากลืมคำราชาศัพท์ร้องออกมาว่า “โอ้ ขอโทษ” พระองค์ท่านตรัสตอบไปว่า “ได้” ขณะที่ช่วยพยุงผู้ป่วย พระองค์ท่านได้ตรัสสอนว่า การอุ้มผู้ป่วยอย่าให้หย่อนตัว ให้เท้า ขา ตะโพก ไหล่ตลอดคอ ให้เป็นเส้นตรง” พระองค์ท่านตรัสว่า “มิเช่นนั้นจะทำให้ผู้ป่วยอุบัติเหตุเป็นอัมพาตได้” 
        วันหนึ่งขณะที่หมอจันทร์แดงกำลังทำแผลอยู่ในตึกผู้ป่วย พระองค์ท่านทรงตรวจ Chart ของคนไข้ต่างๆอยู่ มีเสียงร้องว่า “ใคร่ขี้ๆ” (อยากถ่ายอุจจาระ) พระองค์ท่านทรงรับสั่งถาม 
หมอจันทร์แดงว่า “กระโถนอยู่ไหน” แล้วก็เตรียมพระองค์คล้ายจะลุกไปหยิบเอากระโถนถ่าย เมื่อหมอจันทร์แดงเห็นดังนั้นจึงเร่งรีบไป เอากระโถนถ่าย แต่ด้วยความรีบเร่งทำให้ตัวไถล
กระโถน หลุดจากมือเสียงดังโครมคราม พระองค์ท่านทรงยิ้ม และตรัสว่า “เคราะห์ดีที่หัวไม่ฟาดพื้นนะ” 
“ระหว่างที่ทรงประทับอยู่เชียงใหม่ ทรงประทับอยู่ห้องๆ หนึ่ง ณ ตึกที่หมอคอร์ทพักอาศัย ไม่ได้มีมหาดเล็กและทหารรับใช้แม้แต่คนเดียว  ทรงเสวยแบบๆ ธรรมดาอย่างหมอคอร์ทและ ภรรยารับประทาน โดยมีพ่อครัวที่อยู่กับหมอคอร์ทเป็นผู้ทำให้  ไม่มีรถพระที่นั่งอย่างใดทั้งสิ้น  พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริกับ หมอคอร์ทว่าจะสร้าง TB Sanatorium เพื่อรักษาคนป่วยวัณโรค
ซึ่งวัณโรคเวลานั้นไม่มียาดีๆ อย่างทุกวันนี้ ต่อมาพระองค์ท่านได้เสด็จไปประกอบพระราชกิจ ที่กรุงเทพฯ และหลังจากนั้นทางเชียงใหม่ได้ข่าวว่าพระองค์ท่านทรงประชวรและหมอคอร์ท รีบเดินทางไปเฝ้าต่อมาภรรยาหมอคอร์ทได้เดินร้องไห้เข้าหอผู้ป่วยยื่นโทรเลขให้และบอกว่าพระองค์ท่านได้สวรรคตเสียแล้ว พวกเราเศร้าโศกเสียใจกันมาก ไว้ทุกข์อยู่นาน”
พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่นาน  ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงสมเด็จพรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช  เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2472  โดยที่พระองค์ยังทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับมาเชียงใหม่อีก แต่พระองค์ก็ทรงพระประชวรและเสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472   ปัจจุบันภายในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ยังได้เก็บเครื่องใช้บางส่วนของพระองค์ไว้ในห้องที่ตึกมหิดลเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยมีทั้งเตียงบรรทม  โต๊ะทรงพระอักษร  พระราชหัตถเลขา และยังมีเครื่องเอ็กซเรย์
เครื่องแรกที่ใช้ในส่วนภูมิภาค ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อด้วย แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของการปฏิบัติภารกิจเยี่ยงแพทย์สามัญ  และวันเวลา
จะผ่านเนิ่นนานกว่า 79 ปี แต่ความทรงจำยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ย่อมมิมีวันลบเลือน.
     เมื่อวันที่  18 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือมหาวิทยาลัยพายัพ ได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภายในโรงพยาบาลแมคคอร์มิคและขอขอบพระคุณ อาจารย์อนุกูล ก้อนแก้ว 
หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ที่ให้ศูนย์ข้อมูลภาคเหนือได้เข้าไปเก็บภาพบรรยากาศ
 

 

 
 



ที่มาของข้อมูล
    
            " รำลึกหมอเจ้าฟ้า รักษาคนเจียงใหม่." 2551. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ : 25 พฤศจิกายน
                       จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=314389