กะเหรี่ยง หรือปกาเกอญอ เป็นชาวเขาที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มชาวเขาในประเทศไทย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นคนกลุ่มที่อาศัย
อยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมานานหลายร้อยปี ดังปรากฏในตำนานหลาย ๆ เรื่องที่กล่าวถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิม ทั้งลัวะและยางหรือกะเหรี่ยงในภาคเหนือ ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มคนที่รักความ
สงบ ผูกพันกับธรรมชาติและไม่ชอบการต่อสู้หรือความรุนแรง ในอดีตชาวกะเหรี่ยงจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะไม่ข้องเกี่ยวกับคนภายนอกชุมชนของตนและมักตั้งหมู่บ้านอยู่ห่างไกลชุมชนอื่น 
( พอล ลูวิสและอีเลน ลูวิส , ๒๕๒๘ : ๖๙)
            






         
        






         ชาวกะเหรี่ยงพูดภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ภาษากะเหรี่ยงที่ใช้มากในประเทศไทย คือ ภาษากะเหรี่ยงโปวและภาษากะเหรี่ยงสะกอซึ่งแม้จะเป็นกะเหรี่ยงเหมือนกันแต่ไม่สามารถเข้าใจ
กันได้ทั้งหมด เพราะทั้งสองภาษามีความแตกต่างกันในเรื่องระบบเสียงและคำศัพท์ค่อนข้างมาก นักภาษาศาสตร์จึงจัดเป็นคนละภาษา ชาวกะเหรี่ยงแบ่งตามภาษาที่พูดเป็นสี่กลุ่มใหญ่ 
(สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ ,๒๕๑๘ : ๑๐)คือ  ๑. กะเหรี่ยงโปว  ๒. กะเหรี่ยงสะกอ  ๓. กะเหรี่ยงบเว เรียกตัวเองว่าคยา หรือ ยางแดง ๔. กะเหรี่ยงพะโอ 
หรือตองสู่ (สถาบันวิจัยชาวเขา, ๒๕๔๑ : ๓๒ )
        ในเมืองไทยกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กะเหรี่ยงสะกอและกะเหรี่ยงโปว ในภาคกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรีมีชาวกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มอาศัยอยู่รวมกับคนไทย
และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ โดยชาวบ้านเรียกชาวกะเหรี่ยงโปวว่า กะเหรี่ยง แต่เรียกชาวกะเหรี่ยงสะกอว่ากะหร่าง ชาวกะเหรี่ยงยังถูกเรียกขานตามที่ตั้งถิ่นฐาน เช่น ชาวกะเหรี่ยง ในจังหวัดราชบุรี
ถูกเรียกว่า “ ยางน้ำ” เนื่องจากตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา มักอยู่เป็นชุมชนหมู่บ้านที่มีประชากรประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ คน มีจำนวนทั้งหมด ๒๗ หมู่บ้าน ยังเป็นชุมชนที่มี
ลักษณะทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่มาก หมู่บ้านเหล่านี้พูดภาษากะเหรี่ยง อย่างเดียวถึง ๒๒ หมู่บ้าน ส่วนที่พูดได้สองภาษา คือ ไทยและกะเหรี่ยงมีเพียง ๕ หมู่บ้าน
(สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ, ๒๕๔๗ : ๔๘)
ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยง
             
           มีข้อสันนิษฐานว่าชาวกะเหรี่ยงเดิมอาศัยอยู่ทางตะวันออกของทิเบต ได้อพยพเข้าไปตั้งอาณาจักรในประเทศจีนเมื่อ ๗๓๓ ปีก่อนพุทธกาล 
จีนเรียกพวกนี้ว่าชนชาติโจว เมื่อถูกจีนรุกรานจึงอพยพมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซี ยูนนาน แล้วถอยร่นมาอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน 
ชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพม่าก่อนที่จะขยายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ของประเทศไทย โดยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภูเขาทางชายแดนตะวันออก
ของสหภาพพม่าและตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่เมืองตองยีทางเหนือลงไปทางใต้ถึงตะนาวศรีเกือบจึงคอคอดกระ รัฐคะยาและรัฐกะเหรี่ยงม
ีพื้นที่ครอบคลุมเขตภูเขาทางตะวันออกของเมืองตองอูขยายไปตามลำน้ำสาละวินทางใต้ ระหว่างแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอิระวดีในเขตพะโค 
พื้นที่สามเหลี่ยม ปากแม่น้ำอิระวดีใกล้กับเมืองพะสิมและเมืองย่างกุ้ง ในประเทศไทยกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตกในเขตชายแดน
กับพม่า จากที่ตั้งถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงเป็นพื้นที่แคบยาวจากเหนือลงใต้ทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ทางตอนเหนือ คือ กลุ่มคะยาหรือกะเหรี่ยงแดงและ
กลุ่มย่อย ๆ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มไทและรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของไท ส่วนกะเหรี่ยงที่อยู่ทางใต้ ได้แก่ กะเหรี่ยงโปวและกะเหรี่ยงสะกอ
เป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของมอญและพม่า (Michael C. Howard, 2005 : 117)ในลุ่มน้ำปิง ปัญหาความไม่สงบและสงคราม
ระหว่างไทยกับพม่าในสมัยพระเจ้า อลองพญายิ่งทำให้ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากอพยพจากพม่าเข้ามาสู่รัฐไทใหญ่และล้านนา พระเจ้ากาวิละได้
นำเอาชาวกะเหรี่ยงโปวมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หางดง ต่อมามีผู้อพยพตามมาอีก เป็นจำนวนมากและได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
 เช่น บ้านแม่ละมู ที่อำเภอ แม่สะเรียง เป็นต้น  
            ชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาในตอนหลังได้ขอซื้อดินน้ำจากเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ส่งส่วยบรรณาการต่าง ๆ ให้เจ้านาย หรือแม้แต่จ่ายค่าเช่าที่ดิน
ให้กับลัวะซึ่งตั้ง ถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ในภาคกลางของประเทศไทยมีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากตั้งแต่สมัยพระเจ้าอลองพญา 
เนื่องจากปัญหาสงครามแลความขัดแย้งระหว่างพม่ากับมอญ เมื่อมอญเป็นฝ่ายพ่ายแพ้กะเหรี่ยงได้ให้ที่หลบภัยและช่วยเหลือมอญ ทำให้เกรงว่าพม่าจะ
เข้ามาปราบปรามกะเหรี่ยงด้วย จึงอพยพตามมอญลี้ภัยมาอยู่ในไทย จากสมุดราชบุรีซึ่งเป็นรายงานของมณฑลราชบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ
เกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่มากมายและได้กล่าวถึงชาวกะเหรี่ยง ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าได้มีการตั้งหลักแหล่งแน่นอนภายใต้การ
ปกครองของสยามมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ในเมืองราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี  พวกนี้มาจากเมืองเมกะวะ แขวงเมืองมะละแหม่งทางใต้ของพม่า
 ได้อพยพเข้ามาครั้งแรกประมาณ ๑๐๐ คนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ห้วยชองกะเลียเรียกว่าบ้านทุฬ่อง ต่อมาก็มีการอพยพเพิ่มเติมเรื่อยมา เมื่อมีจำนวนมากขึ้น
ก็ขอเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม จึงได้ตั้งผู้ปกครองเป็นลำดับโดยได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีเช่นเดียวกับข้าราชการท้องถิ่นอื่น ๆ ผู้นำ
ชาวกะเหรี่ยงได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาศรีสุวรรณคีรี เจ้าเมืองสังขละบุรีต้องลงไปถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาที่กาญจนบุรี ๓ ปีครั้ง โดยจะนำเอาผ้าทอสีขาวสีแดง
ที่ชาวกะเหรี่ยงทอเอง ๒๐ ผืน แต่ผ้านี้กลับเรียกว่า ผ้าเสมียนละว้า ต้นดอกไม้เงิน ๒ ต้น เครื่องยาสมุนไพรและของป่าเป็นเครื่องบรรณาการไปถวายที่กรุงเทพ
(ฉลอง สุนทราวาณิชย์ , ๒๕๕๐: ๒๓-๒๔)
...สาวสาวเหล่ากะเหรี่ยง สวยสวย 
 ปักปิ่นเกล้าผมมวย แช่มน้อย 
 เงินไพลูกปัดรวย ร้อยรอบ คอนา 
 ขมิ้นผัดหน้าชม้อย ม่ายเหลี้ยงเอียงอาย 
                 ชาวกะเหรี่ยงในภาคกลางได้รับอิทธิพลจากพม่าและมอญค่อนข้างมาก เช่น การแต่งกาย การเต้นรำ เครื่องดนตรีที่ใช้ และประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์ทาง
วัฒนธรรมที่เหมือนกันกับชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือ นั่นก็คือ การถือผีสายแม่ที่ทำให้ผู้หญิงมีความสำคัญในการสืบทอดจารีตประเพณี       
                   
 


            
 














              นอกจากการอพยพโยกย้ายดังกล่าวแล้วชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหลังจากอังกฤษยึดครองพม่าได้แล้ว เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงเหล่านั้นไม่ยอม
อ่อนน้อมต่ออังกฤษจึงถูกปราบปรามต้องหลบหนีเข้ามาอยู่ในไทย โดยกลุ่มหนึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ทางใต้ มีชุมชนกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อีกกลุ่ม
หนึ่งไปตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูนและลำปางชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือนี้มีความสัมพันธ์กับเจ้านายผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ 
เป็นอันดี เจ้านายมักจะใช้ชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาและป่าลึกในการดูแลป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตะวันตกของเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และแม่สะเรียง ความสัมพันธ์ของ
เจ้านายและชาวกะเหรี่ยงนั้นอยู่ภายใต้ระบบไพร่ โดยชาวกะเหรี่ยงต้องส่วยของป่า ต้องเสียภาษี ถูกเกณฑ์แรงงานและเสบียงอาหารในกรณีที่เจ้านายเดินทางไปในพื้นที่นั้น ๆ นอกจากนี้
การขยายตัวของการทำป่าไม้ในภาคเหนือทำให้มีการว่าจ้างชาวกะเหรี่ยงมาดูแลช้าง ที่ใช้ทำป่าไม้มากขึ้น (Ronald Renard, Ibid : 133-140)
            กะเหรี่ยงแดงในแม่ฮ่องสอนและลำพูน เจ้าโกศลช่วยจ่ายภาษีแทนชาวกะเหรี่ยงแลกเปลี่ยนกับแรงงานในการทำป่าไม้ อาจจะทำเปล่า ๆ หรือจ่ายค่าแรงต่ำ เจ้าโกศลทำหน้าที่เป็น
ผู้อุปถัมภ์ชาวกะเหรี่ยงภายใต้ระบบศักดินา คือ เป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงให้กับชาวกะเหรี่ยงในเรื่องที่เกี่ยวกับทางราชการ การเมืองและกฎหมาย ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้เก็บภาษี ๔ บาท
ให้กับรัฐบาลกลาง ซึ่งในกรณีนี้เจ้าโกศลได้ช่วยต่อรองกับรัฐบาลเพื่อลดภาษีให้กับชาวกะเหรี่ยงที่ยากจนและไม่มีเงินเสียภาษี ชาวกะเหรี่ยงจึงเสียภาษีเพียง ๒ บาท เจ้าโกศลเป็นที่เคารพนับถือ
ของชาวกะเหรี่ยงมากจนสามารถชักชวนให้ชาวกะเหรี่ยงโปวที่ห้วยหละมาช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระยืนที่ลำพูนได้

         ปัจจุบันนี้มีชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยประมาณ ๓๕๓,๓๔๗ คนอยู่กระจัดกระจายตามภาคต่าง ๆ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่
สูงที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน กาญจนบุรี เชียงราย แพร่ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สุโขทัย ราชบุรี 
ลำปางเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีทั้งชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งรกรากเป็นชุมชนมานานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ กับชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้า
มาอยู่ในเมืองไทยตามรอยตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับพม่า ชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาใหม่มักจะไม่มีที่ทำกินจึงต้องกระจายตัว
ออกไปรับจ้างทำงานในจังหวัด ต่าง ๆ ของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ทำให้จำนวนประชากรชาวกะเหรี่ยง จริง ๆ 
ในปัจจุบันนี้ไม่ชัดเจน 

 





ที่มาของข้อมูล
    
            รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์.  2550.  "กะเหรี่ยงหรือปกาเกอญอ".  ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
            พอล ลูวิสและอีเลน ลูวิส.หกเผ่าชาวดอย (เชียงใหม่ : หัตถกรรมชาวเขา, ๒๕๒๘), หน้า ๖๙.
            สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ.ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง, (กรุงเทพ : โรงพิมพ์กรมแผ่นที่ทหาร, ๒๕๑๘), หน้า ๑๐. 
            สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ, ชุมชนภาษาในจังหวัดราชบุรี ” , วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๓, ๒๕๔๗, หน้า ๒๑๑.
            Michael C. Howard.Textiles of the Highland Peoples of Burma Volume II ( Bangkok : White Lotus, 2005),p.117.