กำหนดการจัดงานวันที่ 31 พ.ค. วันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ (วันเข้าอินทขิล)เวลา 13.30 น. คณะข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น พนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ นักเรียน 
นักศึกษา ศรัทธาประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมฯ กลุ่มหนุ่มสาวฯ และลูกเสือชาวบ้าน พร้อมกัน ณ วัดเจดีย์หลวง จากนั้นเวลา 14.00 น. ร.อ.หญิง เดือนเต็มดวง 
ณ เชียงใหม่ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวอัญเชิญพระพุทธรูปฝนแสนห่าออกแห่จากวัดเจดีย์หลวงฯ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระปกเกล้า ผ่านพระบรมราชานุสาว-รีย์สามกษัตริย์ 
เลี้ยวขวาสู่ถนนราชวิถี เข้าสู่ถนนช้างม่อย ถนนช้างม่อยตัดใหม่ ถึงถนนท่าแพเลี้ยวขวา มุ่งเข้าสู่ถนนราชดำเนิน ถึงสี่แยกกลางเวียง เลี้ยวซ้ายไปตามถนนพระปกเกล้าและเลี้ยวขวา
เข้าวัดเจดีย์หลวง     
           ในเวลา 16.30 น. นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ผวจ. เชียงใหม่จะเป็นประธานเปิดงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลฯ โดยมีนายกเทศมนตรี
นครเชียงใหม่กล่าวรายงาน จากนั้ ผวจ.จะประกอบพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปฝนแสนห่า จุดธูปเทียนบูชาและสรงน้ำเสาอินทขิล ใส่ขันดอก 32 ขัน
เสร็จแล้วจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา สมโภชเสาอินทขิล ณ เวทีการแสดงหน้าพระวิหารของวัดด้านทิศเหนือ
           ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงฯเจริญพรอีกว่าระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 09.09 น.เป็นต้นไปทางวัดจะเปิดโอกาสให้ศรัทธา
ประชาชน ทำบุญสรงน้ำ ปิดทองพระพุทธรูป ใส่ขันดอกไม้บูชาเสาอินทขิล มีการแสดงการละเล่นพื้นเมือง เพื่อเป็นการบูชาเสาอินทขิลทุกวัน
สำหรับวันที่ 7 มิ.ย. วันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (วันออกอินทขิล) เวลา 09.00 น นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่เป็นประธานพิธีทำบุญ ทางศาสนา พระสงฆ์ 108 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารเพล ถวายไทยทาน พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี จากนั้นเวลา 16.00 น. วันเดียวกันจะมีพิธียกช่อฟ้าเอกวิหารวัดเจดีย์หลวง เชิญชวนศรัทธาสาธุชนมาร่วมพิธี.

           อินทขิลเป็นชื่อเรียก เสาหลักเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงใหม่ทราบดีว่า ทุกๆปีจะต้องมีพิธีสักการะบูชาเสาอินทขิล เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองที่กำลังจะทำ 
การเพาะปลูก โดยอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่าอันเป็นพระพุทธรูปที่บันดาลให้ฝนตก มาเป็นประธานในขบวนแห่ และมีการสวดคาถาอินทขิลของหมู่สงฆ์ด้วย ชาวเชียงใหม่จะทำพิธีบูชา 
อินทขิลในตอนปลายเดือน 8 ต่อเดือน 9 (เดือนพฤษภาคมต่อเดือนมิถุนายน) โดยเริ่มในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า วันเข้าอินทขิล ไปจนถึงในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เป็นวันออกอินทขิล 
จึงเรียกว่าเดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก 
      ในภาคเหนือมีวัดอินทขิลที่ปฏิบัติบูชาแบบเดียวกันอีกสามแห่งคือวัดอินทขิลที่แม่แตง พร้าว และป่าซาง 
ประเพณีนี้เป็นของพราหมณ์ที่สืบทอดมาช้านาน ท่านพระครูโสภณกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงบอกว่า 
งานเข้าอินทขิลจะต้องมี “ขันตั้ง” บูชาให้ถูกต้อง จึงจะให้เกิดสวัสดิมงคลแก่บ้านเมืองเครื่องสังเวยพลีกรรมหรือ
ขันตั้งบูชาเสาอินทขิลมีถึง 12 ขัน เป็นขันหลวงประธานหนึ่งกับขันบริวารอีก 11 ขัน ประกอบด้วยหมากพลู 
ผ้าแเดง เทียนเงิน เทียนคำ เหล้าขาว สวยดอก ข้าวเปลือก ข้าวแดง เชือก ขอช้าง กล้วยน้ำว้า และมะพร้าว 
การที่พระสงฆ์เข้าไปทำพิธีในวิหารอินทขิล เพราะบนยอดอินทขิลมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ จึงเท่ากับเป็น
การผสมผสานระหว่างพิธีกรรมของพราหมณ์กับพุทธ เข้าด้วยกัน…
       ตำนานอินทขิล หรือตำนานสุวรรณคำแดงที่พระมหาหมื่นวุฑฒิญาโณ วัดหอธรรม เชียงใหม่ เล่าความเป็นมาของเสาอินทขิลไว้ว่า บริเวณที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนานั้น 
เป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะ ในเมืองนี้มีผีหลอกหลอนทำให้ชาวเมืองเดือดร้อน ไม่เป็นอันทำมาหากิน อดอยากยากจน พระอินทร์จึงได้ประทานความช่วยเหลือ บันดาลบ่อเงิน บ่อทอง
และบ่อแก้ว ไว้ในเมือง ให้เศรษฐีลัวะ 9 ตระกูล (อันเป็นที่มาของชื่อ เวียงนพบุรี) แบ่งกันดูแลบ่อทั้ง 3 บ่อละ 3 ตระกูล โดยชาวลัวะต้องถือศีลรักษาคำสัตย์ เมื่อชาวลัวะอธิษฐานสิ่งใด
ก็จะได้ดังสมปรารถนา ซึ่งชาวลัวะก็ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี บรรดาชาวลัวะทั้งหลายต่างก็มีความสุขความอุดมสมบูรณ์ข่าวความสุขความอุดมสมบูรณ์ของเวียงนพบุรีเลื่องลือไปไกล
         และได้ชักนำให้เมืองอื่นยกทัพมาขอแบ่งปัน ชาวลัวะตกใจจึงขอให้ฤๅษีนำความไปกราบทูลพระอินทร์ 
พระอินทร์จึงให้กุมภัณฑ์ (ยักษ์) 2 ตน ขุดอินทขีล (เสาตะปูพระอินทร์) ใส่สาแหรกเหล็กหาบไปฝังไว้กลางเวียงนพบุรี 
เสาอินทขีลมีฤทธิ์มากดลบันดาลให้ข้าศึกที่มากลายร่างเป็นพ่อค้า พ่อค้าเหล่านั้นต่างตั้งใจมาขอสมบัติจากบ่อทั้งสาม 
ชาวลัวะแนะนำให้พ่อค้าถือศีลรักษาคำสัตย์ และอย่าละโมบ เมื่อขอสิ่งใดก็จะได้ พ่อค้าบางคนทำตาม บางคนไม่ทำตาม 
บางคนละโมบ ทำให้กุมภัณฑ์ 2 ตน ที่เฝ้าเสาอินทขิลโกรธพากันหามเสาอินทขิลกลับขึ้นสวรรค์ไป และบ่อเงิน บ่อทอง 
บ่อแก้ว ก็เสื่อมลง 
            มีชาวลัวะผู้เฒ่าคนหนึ่งไปบูชาเสาอินทขีลอยู่เสมอ ทราบว่ายักษ์ทั้งสองนำเสาอินทขิลกลับสวรรค์ไปแล้ว ก็เสียใจมากจึงถือบวชนุ่งขาวห่มขาว บำเพ็ญศีลภาวนาใต้ต้นยาง
เป็นเวลานานถึง 3 ปี ก็มีพระเถระรูปหนึ่งทำนายว่า ต่อไปบ้านเมืองจะถึงกาลวิบัติ ชาวลัวะเกิดความกลัวจึงขอร้องให้พระเถระรูปนั้นช่วยเหลือ พระเถระบอกว่า ให้ชาวลัวะร่วมกันหล่ออ่างขาง 
(กระทะขนาดใหญ่) แล้วใส่รูปปั้นต่างๆอย่างละ 1 คู่ ปั้นรูปคนชายหญิงให้ครบร้อยเอ็ดภาษาใส่กระทะใหญ่ลงฝังในหลุม แล้วทำเสาอินทขิลไว้เบื้องบนทำพิธีสักการบูชา จะทำให้บ้านเมืองพ้น
ภัยพิบัติ การทำพิธีบวงสรวงสักการะบูชาจึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน เดิมมีเสาอินทขีลประดิษฐานอยู่ ณ วัดสะดือเมือง หรือวัดอินทขิลซึ่งตั้งอยู่ ณ กลางเวียงเชียงใหม่ (ปัจจุบันก็คือ 
บริเวณหอประชุมติโลกราช ข้างศาลากลางจังหวัดเก่า) ในตำนานกล่าวว่า เสาอินทขิลเดิมนั้นหล่อด้วยโลหะ จนกระทั่งสมัยพระเจ้ากาวิละ ราวปี พ.ศ. 2343 ได้ย้ายเสาอินทขิลไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง 
โดยบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นเสาปูน และทำพิธีบวงสรวงเป็นประเพณีสืบกันมา ปัจจุบันนี้เสาอินทขิลที่อยู่ในวิหาร  เป็นเสาปูนปั้นติดกระจกสี บนเสาเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง 
เสาอินทขิลนี้สูง 1.30 เมตร วัดรอบได้ 67 เมตร / แท่นพระสูง 0.97 เมตร วัดโดยรอบได้ 3.40 เมตร 
           ประเพณีบูชาอินทขิลในสมัยเจ้าผู้ครองนครกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก ในอดีตเจ้าผู้ครองนครจะเริ่มพิธี
ด้วยการเซ่นสังเวยเทพยาดาอารักษ์ผีบ้าน ผีเมือง และบูชากุมภัณฑ์พร้อมกับเชิญผีเจ้านายลงทรง เพื่อถามความเป็นไป
ของบ้านเมืองว่าจะดีจะร้ายอย่างไร ฟ้าฝนจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ หากคนทรงทำนายว่าบ้านเมืองชะตาไม่ดี ก็จะทำพิธีสืบชะตาเมือง 
เพื่อแก้ไขปัดเป่าให้เบาบางลง นอกจากนี้ยังมีการซอและการฟ้อนดาบเป็นเครื่องสักการะถวายแด่วิญญาณบรรพบุรุษด้วย พิธีกรรมนี้
ี้ทำสืบต่อมาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงหยุดไป 
      ปัจจุบันเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ดำเนินการสืบทอดประเพณีอินทขิล โดยมีพิธีทางพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน ในวันแรกของการเข้าอินทขิล มีการแห่พระเจ้าฝนแสนห่า 
หรือพระพุทธรูปคันธารราษฎร์รอบตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและใส่ขันดอก ส่วนภายในวิหารอินทขิล พระสงฆ์ 9 รูป จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขิล ซึ่งฝังอยู่
ใต้ดินภายใต้บุษบกที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูป เมื่อเสร็จพิธีจะมีมหรสพสมโภชตลอดงาน 
 
         
    


ที่มาของข้อมูล

   
ชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเชียงใหม่. 2539. ประเพณีเก่าเชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ชมรมอนุรักษ์ 
                 วัฒนธรรมประเพณีเชียงใหม่. 


"จัดงานประเพณีบูชาเสาอินทขิลประจำปี 51." 2551 [ออนไลน์.] เข้าถึงเมื่อ: 23 พฤษภาคม.

                จาก http://www.thainews70.com/news/news-culture/view.php?topic=523.
              

 

 

 

 

 

           คณะสงฆ์ร่วมกับคณะศรัทธาสาธุชน หน่วยงาน องค์กรเกี่ยวข้อง จัดงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล ประจำปี 2551 ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร มีขบวนแห่พระพุทธรูปฝนแสนห่า พระพุทธรูป
ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่รอบเมืองเช่นทุกปี เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ให้บ้านเมืองมีความร่มเย็น และเพื่อความเป็นสิริมงคลของชาวเชียงใหม่พระครูโสภณกวีวัฒน์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง เชียงใหม่เจริญพรว่าคณะสงฆ์ของวัดร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยงานเกี่ยวข้อง และศรัทธาสาธุชน กำหนดจัดงานประเพณีบูชาเสาอินทขิล 
จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2551 ระหว่างวันที่ 31 พ.ค.-7 มิ.ย. 2551 ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหารฯ เพื่อให้บ้านเมืองมีความร่มเย็น ไม่มีเหตุเภทภัยเกิดขึ้น มีฝนตกต้องตามฤดูกาล สร้างความเป็น
สิริมงคลให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ ซึ่งจัดสืบทอดกันมาเป็นประเพณีตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ