ลัวะ หรือละว้า เป็นเจ้าของถิ่นเดิมภาคเหนือก่อนที่ไทยเราจะอพยพลงมาสู่แคว้นสุวรรณภูมิ ตามตำนานของเชียงรายได้บันทึกไว้ว่า ชาวละง้าเคยมีอำนาจปกครองไทยสมัยหนึ่ง
 แต่ต่อมาภายหลังได้เกิดการต่อสู้รบพุ่งกัน ไทยประสบชัยชนะได้ฆ่าฟันขับไล่และทำลายล้างชาติละว้า ชาวละว้าหรือลัวะเป็นจำนวนไม่น้อยที่หนีกระจัดกระจายไปอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ 
ลำพูน ลำปาง อาศัยอยู่ในบริเวณห่างไกลจากเขตเจริญ โดยตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นหมู่บ้านเฉพาะพวกของเขา ครั้นบ้านเมืองย่างเข้าสู่ความเจริญโดยมีถนนหนทางติดต่อไปมาทั่วถึงกัน
รัฐบาลไทยได้ขยายการศึกษาแพร่หลายออกไป บรรดาลูกหลานชาวลัวะซึ่งนับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่ดั้งเดิม และมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงคนไทยเผ่าอื่น ๆ ก็กลายเป็นชาวเหนือ
มากขึ้นทุกที ซึ่งอาจทำนายได้ว่าอนาคตอันใกล้นี้ชาวลัวะจะต้องสิ้นสูญชาติไปอย่างแน่นอน 
                ในจังหวัดเชียงรายเท่าที่ทราบมีหมู่บ้านชาวลัวะอยู่ 5 แห่ง ด้วยกัน คือ อำเภอเมือง 2 หมู่บ้าน อำเภอพาน 2 หมู่บ้านอำเภอเวียงป่าเป้า 1 หมู่บ้าน 
สำหรับอำเภอเมืองมีอยู่ในเขตตำบลบัวสลี 1 แห่ง กับตำบลแม่กรณ์ 1 แห่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกตำบลนี้ แต่ละแห่งมีประมาณ 20 หลังคาเรือนชาวลัวะที่อยู่
ทางทิศตะวันออกบ้านฮ่องขุ่นตำบลบัวสลีอำเภอเมืองเชียงราย นั้นตั้งหมู่บ้านบนที่ราบเชิงเขาดอยปุย ปลูกบ้านเรือนหลังเล็ก ๆ แบบชาวเหนือที่อัตคัดตาม
ชนบท คือมีบ้านฝาสาน ขัดแตะ ห้องครัวอยู่ต่างหากต่อจากห้องนอน มีระเบียงและชานนอกชายคา โรงวัวควาย เล้าไก่ ยุ้งข้าวอยู่ห่างกันครกตำข้าวเขาเอา
ไม้สูงประมาณ 1 เมตร มาเจาะลึกลงไปประมาณ 1 คืบ ใช้ตำด้วยมือตั้งครกไว้ใกล้บันไดเรือนในร่มชายคาบางบ้านใช้ครกกระเดื่องตำด้วยเท้าใต้ถุนเรือนเตี้ย
ใช้เก็บฟืน และใช้เครื่องหีบเมล็ดฝ้ายด้วยมือ ทุกหมู่บ้านมีวัดทางศาสนาพุทธ มีพระภิกษุสามเณร การเทศน์ใช้ภาษาชาวเหนือ หนังสือจารึกบนใบลานที่ใช้
เทศน์ก็เป็นอักษรพื้นเมืองเหนือ 
             
                     
              ชาวลัวะ มีขนบธรรมเนียมเครื่องแต่งกายต่างกับชาวเหนือ ผู้ชายนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนหรือโสร่ง ผู้หญิงสวมเสื้อสีดำผ่าอกแขนยาว ปักเป็นแผ่นใหญ่ที่หน้าอกตามแถวกระดุม และ
แถวรังดุมรอบคอ ปักที่ชายแขนเสื้อตรงข้อมือทั้งสองข้างและที่ใต้ตะโพกรอบเอวด้วยดิ้นเลื่อม ไหมเงินคล้ายเสื้อขุนนางไทยโบราณ ผ้าซิ่นติดผ้าขาวสลับดำเล็ก ๆ ตอนกลางเป็นริ้วลาย ชายซิ่น
ติดผ้าสีดำกว้างประมาณ 1 ศอก ตามปกติผู้หญิงอยู่บ้านไม่ค่อยสวมเสื้อชอบเปิดอกเห็นถัน ถ้าเข้าไปในเมืองก็จะสวมเสื้อแต่งกายอย่างชาวเหนือ ถ้าออกไปหาผักตามป่า เอาผ้าขาวโพกศีรษะ 
สะบายกระบุงก้นลึกโดยเอาสายเชือกคล้องศีรษะตรงเหนือหน้าผาก ใส่คาดคอรองรับน้ำหนักอีกชั้นหนึ่ง ไม่สวมเสื้อ แต่ดึงผ้าซิ่นขึ้นไปเหน็บปิดเหนือถันแบบนุ่งผ้ากระโจมอก เวลาเดินน่ากลัว
ผ้าซิ่นหลุด แต่ไม่เคยปรากฎเพาะเหน็บแน่น ไปไหนถือกล้องยาทำด้วยรากไม้ไผ่เป็นประจำ เสื้อของผู้ชายอย่างเดียวกันกับผู้หญิง แต่ไม่ปักดอกลวดลายที่คอเสื้อและชายเสื้อ เครื่องแต่งกาย
ดังกล่าวนี้ปัจจุบันไม่ใช้กันแล้ว หันมานิยมเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ่าอกกลาง กางเกงจีนธรรมดา แต่ผู้ชายที่นุ่งผ้ากระโจงกระเบนยังมีอยู่บ้าง 
           ชาวลัวะ มีอาชีพทางกสิกรรม ทำนา ไร่ สวน เลี้ยงสัตว์จำพวกวัว ควาย หมู ไก่ หมูของเขาปล่อยให้หากินตามบริเวณบ้าน ถ้าฤดูข้าวเหลือง
จึงนำมาขังไว้ในคอกเวลาว่างก็ทอผ้า ตำข้าว จักสาน เช่น กระบุง ตะกร้า ฯลฯฤดูแล้งชอบเข้าป่าล่าสัตว์ เมื่อได้สัตว์ป่ามาหนึ่งตัวผู้ล่าแบ่งเอาไว้
ครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่งนำไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่บ้านผู้ใหญ่บ้านตีเกราะสัญญาณเรียกชาวบ้านมาแบ่งกันไปจนทั่วทุกหลังคาเรือน การปลูกสร้างบ้าน
เรือนชาวบ้านช่วยกันทั้งหมู่บ้านไม่ต้องจ้าง 


          การนับวันเดือนปีของชาวลัวะ ผิดกับชาวเหนือและไทยภาคกลาง คือเดือน 4 ของลัวะเป็นเดือน 5 ของไทย แต่ชาวเหนือถือเป็นเดือน 6 การนับ
เดือนของลัวะอย่างเดียวกันกับชาวไทยใหญ่ และชาวหลวงพระบาง ชาวลัวะมีนิยายประวัติประจำชาติ ซึ่งได้ทราบจากปากคำท่านผู้เฒ่าชาวลัวะบ้านลัวะ
ตำบลบัวสี อำเภอเมืองเชียงรายว่าเดิมพญาลัวะกับพญาไตเพื่อนเกลอกัน ต่อมาพญาไตยกกองทัพไปรบกับพญาแมนตาตอก ซึ่งเป็นพญาอันยิ่งใหญ่
่ของบรรดาผีปีศาจทั้งปวง พญาไตพ่ายแพ้ต่ออิทธิฤทธิ์ของพญาแมนตาตอก จึงมาหลบซ่อนตัวอยู่กับพญาลัวะ พญาแมนตาตอกติดตามหาจนไปถึง
บ้านลัวะ แต่ถูกพญาลัวะกล่าวปฏิเสธว่า ไม่พบเห็นพญาไต พญาไตจึงเป็นหนี้บุญคุณพญาลัวะ ลัวะกับไตจึงเป็นชนชาติคู่เคียงกันนับตั้งแต่นั้นมา

                ชาวลัวะ นอกจากนับถือศาสนาพุทธ ยังนิยมนับถือผี มีการถือผีเสื้อบ้าน ส่งเคราะห์ ผูกเส้นด้ายข้อมือถือขวัญ เวลาเจ็บป่วยใช้ยารากไม้สมุนไพร เสกเป่า และทำพิธีฆ่าไก่เซ่นผี 
ถ้าตายก็จะทำพิธีอย่างชาวเหนือ มีพระสงฆ์สวดมนต์ บังสกุล เอาศพไปป่าช้า ฝังมากกว่าเผา แต่ถ้าตายอย่างผิดธรรมดาก็เผาให้สิ้นซากไปในวันงานพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน (ผีหมู่บ้าน) เขาทำซุ้ม
ประตูสานไม้เป็นรูปรัศมี 8 แฉกติดไว้ ห้ามไม่ให้คนต่างถิ่นเข้าสู่เขตหมู่บ้าน เครื่องหมายนี้ชาวเหนือเรียกว่า “ ตาแหลว” ซึ่งชาวไทยกลางเรียก “ เฉลว” เขาปิดบ้านทำพิธีเลี้ยงผีเสื้อบ้าน 1 วัน ถ้า
เดินทางไปพบเครื่องหมายเฉลวนี้แล้วต้องหยุดอยู่ มีธุระอะไรก็ตะโกนเรียกชาวบ้านให้ไปพูดกันที่ตรงนั้น เช่น ขอดื่มน้ำหรือเดินหลงทางมา ถ้าขืนเดินล่วงล้ำเขตหมู่บ้านของเขาจะถูกปรับเป็นเงิน
 5 บาท ถ้าไม่ยอมให้ปรับเขาบังคับให้ค้างแรม 1 คืน เวลาเกิดมีโรคสัตว์ระบาด หรือไข้ทรพิษเกิดขึ้นแก่คนภายในหมู่บ้านของเขา เขาจะปิดเฉลว หรือเครื่องหมายห้ามเข้าหมู่บ้านเช่นเดียวกัน 
                ภาษาของชาวลัวะไม่เหมือนภาษาไทยเลย ทั้งไม่คล้ายคลึงภาษาของชนชาติใด เข้าใจว่าเป็นชนชาติหนึ่งต่างหาก เช่น คำว่ากิน ชาวลัวะว่า จ่า แมว ว่า อั่งแมง หมู-ว่า สุนัข-ขื้อ
 ไฟ-มีท่อ น้ำ-ลาง ลูก-อังย่ะ เมีย-ข่ามบ๊ะ ผัว — อังบลอง อยู่ใกล้-อังดื้อ อยู่ไกล-อังเวอ บ้านท่านอยู่ที่ไหน-อาส่างข่องเดิ่งแง รับประทานอาหารกับอะไร-ไม้ เจ่อจ่าแอ รับประทานข้าว-ห่างจ่า
 ไปเที่ยวไหนมา-เกิ่งบ่แอ ไปไหน-อาละเกิ่งแอ ฯลฯแต่ถ้าเป็นคำที่เรียกซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เรียกเป็นภาษาชาวเหนือทั้งสิ้น ตลอดจนชื่อก็อย่างชาวเหนือ เช่น บัวจั๋น คำปัน พรหมา ฯลฯ
 เข้าใจว่าชื่อเดิมของลัวะนั้นไม่ได้เรียกกันดังนี้ มานิยมใช้ชื่อแบบชาวเหนือภายหลัง ส่วนชื่อเครื่องใช้นั้นสมัยโบราณเครื่องใช้แบบปัจจุบันชาวลัวะไม่มีใช้และรู้จัก เมื่อซื้อไปก็เลยเรียกชื่อตาม
ชาวเหนือเรียก อาศัยที่อยู่ใกล้เคียงชาวเหนือขนบธรรมเนียมจึงคล้ายชาวเหนือ เพราะชนชาตินี้ถูกกลืนง่ายที่สุด ดังปรากฎว่า ลัวะที่อยู่ในเขตไทยใหญ่ได้กลายเป็นชาวไทยใหญ่โดยมาก
ขนบธรรมเนียมในการเที่ยวสาวชาวลัวะ เขาจะหยุดการทำงานในวันพระ ตลอดจนการเที่ยวสาวก็พลอยงดเที่ยวไปด้วย การเที่ยวสาวขึ้นไปนั่งสนทนาเกี้ยวพาราสีหญิงสาวบนบ้าน เมื่อหญิงสาว
พอใจรักใคร่จะล่วงเกินเอาเป็นภรรยาได้โดยใส่ผีเป็นเงิน 12 บาท ครั้นแล้วต้องไปทำงานให้พ่อตาแม่ยายเป็นเวลา 1 ปี ถึง 3 ปี จึงแยกปลูกบ้านเรือนต่างหากได้ ในปีแรกจะแยกเอาภรรยาไป
อยู่บ้านตนหรือปลูกบ้านอยู่ต่างหากไม่ได้เป็นอันขาด อย่างน้อยต้องรับใช้งานพ่อตาแม่ยาย 1 ปี เพราะต้องการใช้แรงงานบุตรเขย 
          การเดินทางไปบ้านลัวะ ตำบลบัวสลี อำเภอเมืองนั้น ออกจากตัวเมืองเชียงราย โดยรถยนต์ตามถนนประชาธิปัตย์เชียงราย-พานทางทิศใต้
ประมาณ 10 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านฮ่องขุ่น ซึ่งมีตลาดประจำตำบลที่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง แล้วลงเดินแยกไปทางทิศตะวันออกมุ่งตรงไปสู่ดอยปุย ตาม
เส้นทางเดินเท้าใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ก็ถึงหมู่บ้านลัวะดอยปุย ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราบริมเชิงเขา ประมาณ 20 หลังคาเรือน ชาวลัวะเหล่านี้เวลาอย
ู่ระหว่างพวกเดียวกันพูดภาษาลัวะ และแต่งกายแบบครึ่งลัวะครึ่งชาวเหนือ แต่ถ้ามาในเมืองแล้วแต่งกายแบบชาวเหนือ จะไม่มีผู้ใดทราบว่าเขา
เป็นชาวลัวะ แม้แต่ชาวเชียงรายเองน้อยคนที่ทราบว่ามีชาวลัวะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันกับที่พวกเขาอาศัยอยู่ 

 

 

 

 

 ที่มาของข้อมูล 
     บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. 2547. 30 ชาติในเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศยาม.