กะเหรี่ยงคอยาวหรือในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "ปาดอง" หมายถึงผู้สวมหวงทองเหลือง แต่เนื่องจากชื่อและธรรมเนียมการใส่ห่วงทองเหลืองนี้จำกัดอยู่แต่บางกลุ่มที่ไม่ได้ นับถือศาสนาคริสต์ ปาดองส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงต้องการให้เรียกชื่อว่า "กะยัน" ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยง อันที่จริงการใส่ห่วงทองเหลืองแบบนี้ไม่ใช่ปฏิบัติอกันเฉพาะในกลุ่ม ปาดองเท่านั้น แต่ยังอยู่ในกลุ่มชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นในพม่าคือ "ละมุง" ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่าปาดอง ปาดองเป็นกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงที่มีลักษณะลาดลงมาเป็นขั้นบันไดเหนือแม่น้ำสาละวินในรัฐกะยา ประเทศพม่า ใกล้เขตแดนไทยทางตอนเหนือ ส่วนปาดองในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเพียงไม่กี่ครอบครัว เหตุที่เข้ามาอยู่เพราะมีบริษัทจัดนำเที่ยวเจรจาตกลงกับรองนายกกะเหรี่ยงชื่อ ตูยีมู เพื่อขอนำปาดองเข้ามา ให้นักท่องเที่ยวชมในเขตประเทศไทย โดยมีเงินเป็นค่าตอบแทนซึ่งกะเหรี่ยงจะเอาไปสมทบทุนซื้อเสบียงกับอาวุธไว้รบกับพม่าและเป็นค่าใช้จ่ายของปาดองด้วย |
|
ถ้าพูดถึงปาดอง เชื่อได้ว่ามีน้อยคนนักที่จะรู้จัก แต่ถ้าพูดถึง กะเหรี่ยงคอยาวแล้ว จะเป็นที่คุ้นหูของคนส่วนมาก ปาดอง หรือกะเหรี่ยงคอยาวได้รับความสนใจ
จากบุคคลทั่ว ๆ ไปในประเทศไทย เพราะลักษณะการแต่งกายของผู้หญิงเผ่านี้ ที่นำห่วงทองเหลืองมาสวมคอ นับเป็นสิ่งที่แปลกที่ไม่เคยพบเห็นในชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ
ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจุดแรกที่ปาดองมาอาศัยอยู่ได้แก่ บ้านน้ำเพียงดิน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเขตสิ้นสุดชายแดนไทย การเดินทางไปหมู่บ้าน
นี้ส่วนใหญ่จะไปทางเรือ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ปัจจุบันผู้หญิงปาดองที่สวมห่วงคอทองเหลืองทั้งหมดได้อพยพจากบ้านน้ำเพียงดิน มาอาศัยอยู่ที่บ้านในสอย อำเภอเมือง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะฐานที่มั่นน้ำเพียงดินถูกพม่าโจมตี และปาดองบางส่วนก็อยู่ที่ บ้านห้วยเสือเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย
|
![]() |
ปาดองอาศัยอยู่ในเรือนหลังคามุงแฝกที่ทำด้วยใบตองตึง ฝากั้นด้วยไม้ขัดแตะ พื้นปูฟาก ไม้ไผ่ ตอนกลางวันผู้ชาย ไปฝึกทหารบ้าง ล่าสัตว์หาของป่าบ้าง ผู้หญิงอยู่บ้านทอผ้า เลี้ยงลูกและคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะไปถ่ายภาพ หรือไปซื้อของ |
การใส่ห่วงคอทองเหลืองนั้น เริ่มตั้งแต่เด็กสาวปาดองมีอายุได้ 5-9 ปี หมอผีประจำเผ่าเป็นผู้ทำพิธีใส่ให้ ก่อนใส่จะต้องใช้กระดูกไก่ทำนายหาฤกษ์ยามที่ดีที่สุด แต่เดิมผู้ที่จะสวมห่วงทองเหลืองจะต้องเป็นหญิงที่เกิดวันพุธที่ตรงกับวันเพ็ญเท่านั้น และจะต้องเป็นหญิงปาดองแท้ ไม่ใช่เชื้อผสมมาจากเผ่าอื่น แต่ต่อมาไม่ว่าจะเกิด วันใดก็นิยมใส่กันหมด ห่วงคอนี้เดิมใช้ทองคำแท้ แต่ปัจจุบันใช้ทองเหลืองที่นำมาจากเมืองเบลอง ประเทศพม่า ห่วงทองเหลืองนี้จะมีลักษณะตัน เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/3 นิ้ว ที่ต้องตันเพราะถ้ากลวงแล้ว จะนำมาดัดเป็นวงกลมได้ไม่สวย |
![]() |
ก่อนใส่ต้องเอาทองเหลืองไปอังไฟและชุบน้ำมะนาวให้อ่อนแล้วนำมาขดรอบคอทบขึ้นไปเป็นวงต่อติดกัน เหมือนขดลวดสปริง ห่วงที่เป็นขดนี้มี 2 ชุด ชุดแรกใส่เป็นฐานอยู่บนไหล่ 5 วง ต่อจากชุดนี้ขึ้นไปบนคอ เป็นชุดที่มี 20 วงเหนือวงบนสุดจะมีหมอนใบเล็กจิ๋วใส่ค้ำคางไว้กันเสียดสี ห่วงทั้ง 2 ชุดนี้ แม้แยกจากกันเป็นสองขด แต่ก็มีโลหะยึด ให้ติดกันไว้ที่ด้านหลังคอ รอบ ๆ ห่วงชุดล่างจะมีสร้อยเงินเหรียญและลูกปัดสวมทับอีกทีหนึ่ง |
ผู้หญิงปาดองจะถอดห่วงคอตามวาระต่าง ๆ กันทุกปี ปีละครั้ง เพื่อเปลี่ยนขนาดโดยเพิ่มความยาวของขดทองเหลือง บางแห่งก็ถือว่าการถอดห่วงเพื่อเปลี่ยนขนาดจะทำทุก ๆ 4 ปี ในชีวิตของปาดองนั้นจะเปลี่ยนขนาดห่วงทั้งหมด 9 ครั้ง เมื่อคำนวณแล้วพบว่าจะเปลี่ยนขนาดครั้งสุดท้ายเมื่ออายุได้ 45 ปี และจะใส่ห่วงชุดนั้นไปจนกว่าจะตาย นอกจากถอดเพื่อเปลี่ยน ขนาดแล้ว ผู้หญิงปาดองจะถอดห่วงเมื่อตอนตั้งท้องเตรียมจะคลอดบุตร แต่เมื่อคลอดแล้วก็จะใส่เข้าตามเดิม นอกจากนั้นก็จะต้องถอดห่วงเมื่อถูกทำโทษ ตามความเชื่อดั้งเดิม ผู้หญิง ปาดองที่ทำความผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางชู้สาว จะถูกทำโทษให้ถอดห่วงออก เพื่อทำให้เกิดความอับอายดูเหมือนว่าห่วงทองเหลืองนี้เท่านั้นที่ทำให้ปาดองกลายเป็นชนเผ่าประหลาดถึง ขนาดที่นำมาเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ คงไม่ต้องตั้งปัญหาว่าการที่นำปาดองเข้ามาในประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ความประหลาดนี้แก่สายตานักท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรือไม่ เพราะเป็นความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย แต่นอกจากห่วงทองเหลืองนี้แล้ว ปาดองคือชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่มีภาษา และวัฒนธรรมของตนเอง มีความสัมพันธ์กับกะเหรี่ยงในประเทศไทย ทั้งทางภาษาและประเพณีความเชื่อ ความเป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้หญิงปาดองไม่ใส่ห่วงทองเหลืองที่คอ ก็อาจไม่มีโอกาสเข้ามาอยู่ในเขตแดนไทยจนเป็นที่รู้จักอย่างในปัจจุบัน |
ที่มาของข้อมูล
รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์. 2550. "กะเหรี่ยงกะยัน". ม.ป.ท. : ม.ป.พ.