ผลจากการศึกษาค้นคว้าของนักมานุษยวิทยาช่วยให้เราได้ทราบว่า ชนชาวเผ่าอีก้อที่อาศัยอยู่ตามดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย
ในปัจจุบันนี้แต่เดิมมีถิ่นฐานและอาณาจักรที่เป็นอิสระแก่ตนเอง ในบริเวณต้นแม่น้ำ “ ไท้ฮั่วสุย” หรือแม่น้ำดอกท้อต่อมาได้ถูกชนชาติอื่นรุกรานจึง
ต้องถอยร่นลงมาทางใต้ เข้าสู่บริเวณแถบภูเขาสูงมณฑลยูนนานแคว้นสิบสองปันนา และมณฑลกวางเจาของจีน จนกระทั่งประเทศจีนได้มีการเปลี่ยน
แปลงระบบการปกครองของประเทศเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ชนเผ่าอีก้อและชนกลุ่มน้อยอีกหลายเผ่าจึงได้อพยพลงมาทางใต้อีกโดยกระจัดกระจาย
กันเข้ามาอยู่ตามดอยสูงในแคว้นเชียงตุงของพม่าและในแคว้นหัวโขง แคว้นพงสาลีของลาว ตลอดจนบริเวณดอยสูง ทางตอนเหนือสุดของประเทศไทย
เช่น เชียงราย เป็นต้น 

 

            เนื่องจากชนเผ่าอีก้อมีถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาและยอดดอยจึงถูกเรียกว่า ชาวเขา แต่สำหรับพวกเขาจะเรียกตนเองว่า “ อาข่า” (AKHA) คนไทยและพม่านิยมเรียกว่า อีก้อ หรือ ข่าก้อ
 ส่วนลาวและชนชาติอินโดจีนตอนเหนือจะเรียกพวกเขาว่า “ โก๊ะ” แต่คนจีนเรียกว่า โวนี่ หรือ ฮานี ซึ่งหมายถึงพวกที่พูดภาษาโลโล ในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีนด้วย
           หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันผู้หนึ่งชื่อพอล ดับบลิว. เลวิส เคยใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับชาวเขาเผ่าอีก้อ หรืออาข่า ในพม่ามานานหลายปี โดยได้จดบันทึกรายงานและสันนิษฐานถึงการ
อพยพของชนเผ่าอีก้อจากจีนเข้าสู่พม่า ลาว และไทยว่า บางทีอาจจะนานกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว และนับตั้งแต่ปีพุทธศักรช 2490 เรื่อยมา พบว่าชาวอีก้อได้อพยพเข้ามาสู่พม่าและประเทศไทย
มากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากในระยะหลัง พวกเขาถูกชาวจีนฮ่อรบกวนจนไม่มีที่ทำมาหากิน จึงจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายหาที่ทำกินใหม่เรื่อยมา กระทั่งเข้าสู่บริเวณสันเขาแนวเขตติดต่อชายแดน
ระหว่างไทยกับพม่าด้านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อันมีความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัย พวกเขาจึงยึดเอาเป็นที่ทำมาหากินเรื่อยมาจนบัดนี้ 
          จากหนังสือ “ กลุ่มชาติพันธุ์ในผืนแผ่นดินใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ได้กล่าวถึงชนเผ่าอีก้อซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม
เช่น ปุลี ยึเชะ, นาคี, มาเว, อาเข่อ, ยึเยาะ เป็นต้น โดยเชื่อว่าแต่ละกลุ่มล้วนมีเชื้อสายมาจากพี่น้องซึ่งมีกำเนิดมาจากมารดาคนเดียวกันแต่ไม่ปรากฎบิดา
และต่อมาพี่ต้องเหล่านี้ก็ได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินและสร้างเผ่าพันธุ์อีก้อ สืบมาจนถึงปัจจุบันเนื่องจากไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าอีก้อเข้ามาอยู่ในประเทศ
ไทยเมื่อใด ข้อมูลต่าง ๆ จึงมาจากคำบอกเล่าจากผู้อาวุโสของชนเผ่าอีก้อเท่านั้น ซึ่งอ้างว่าครั้งแรกได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปีพุทธศักราช 2458
จุดแรกที่เข้ามาคือ บริเวณดอยตุง เขตอำเภอเม่สาย จังหวัดเชียงราย ผู้นำการอพยพรุ่นแรก คือ แสนอุ่นเรือน และแสนพรหมผู้เป็นน้อง ซึ่งได้แยกออกไป
ตั้งหมู่บ้านที่ผาหมีบนดอยตุง ส่วนแสนใจผู้เป็นหลานที่แยกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านแสนใจ เขตอำเภอแม่จัน เป็นต้น 
 
       
               
               ชนเผ่าอีก้อกลุ่มแรกที่เข้ามาในประเทศไทยเรียกตัวเองว่า “ อู่โล้อักข่า” หรืออีก้อไทย ซึ่งมีลักษณะเด่นคือผู้หญิงจะสวมหมวกทรงสูงประดับขนไก่และขนชะนีย้อมสีสวยงาม
เอาไว้บนศีรษะด้วย โดยอีก้อกลุ่มนี้ได้มาตั้งถิ่นฐานบนภูเขาบริเวณใกล้บ้านสามแยก ทางไปดอยแม่สลอง  หลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีชนเผ่าอีก้ออีกพวกหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ โลเมอักข่า”
หรืออีก้อพม่า ได้อพยพเข้ามาในเขตแดนไทยอีกโดยทางสันเขาดอยตุงและเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านที่บ้านผาหมี บนดอยตุงก่อนที่จะกระจัดกระจายไปสู่บริเวณตำบลป่าซาง ตำบลป่าตึง
เขตอำเภอแม่จัน และที่อื่นๆ อีกหล่ยแห่งของสันดอยนี้ ลักษณะเด่นของอีก้อกลุ่มนี้ ผู้หญิงจะสวมหวมกชนิดหัวกลมด้านหลังเป็นแผงสั้นๆ หมวกชนิดนี้ทำด้วยเงินแท้ที่มีมูลค่านับหมื่นบาททีเดียว
คนพื้นเมืองมักจะเรียกพวกเขาว่า “ อีก้อหัวเรดาร์” แต่อีกพวกหนึ่งผู้หญิงจะสวมหมวกที่ประดับด้วยโลหะตีเป็นลูกกลม ๆ ร้อยให้เป็นสายไว้บนศีรษะ 
               อีก้อพม่ากลุ่มนี้เมื่อเข้ามาอยู่แล้วก็มักจะทำการตัดต้นไม้ ถางป่า ทำไร่ ปลูกข้าว อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะป่าที่เป็นต้นน้ำ ลำธาร 
เช่นหัวน้ำแม่สลอง หัวน้ำแม่จันหลวง และหัวน้ำแม่จันน้อย เป็นต้น จนทำให้ดอยกลายเป็นภูเขาหัวโล้นอยู่ทั่วไปเมื่อดินขาดความอุดมสมบูรร์ลง 
พวกเขาก็จะอพยพไปแสวงหาที่ทำกินใหม่เรื่อยไป ส่วนอีก้อกลุ่มที่สามซึ่งอพยพเข้ามาสู่แผ่นดินไทยเมื่อไม่นานมานี้เป็นกลุ่มอีก้อจีน หรือ “ อาย้ออักข่า”
ในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก พวกเขาได้อพยพเข้ามาอยู่ในเขตบ้านปางสา คือที่บ้านโป่งป่าแขมประมาณ 60-70 หลังคาเรือน อีก้อจีนมักจะไม่ค่อยแต่ง
ชุดประจำเผ่า แต่นิยมสวมใส่เสื้อผ้าแบบคนพื้นเมืองมากกว่า
                อาย้ออักข่า หรืออีก้อจีน จะทำมาหากินด้วยการถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยไปเรื่อยจนป่าบนภูเขาโล่งเตียนกลายเป็นเขาหัวโล้นไปในที่สุด เช่นเดียวกับ
อีก้อพม่านั่นเองชนเผ่าอีก้อมักมีความคุ้นเคยอยู่กับชาวเขาเผ่าลีซอและมูเซอมากกว่าชาวเขาเผ่าอื่น ดังนั้นคำว่าอาข่าหรืออักข่าที่ชาวมูเซอเรียกนั้นน่าจะมี
ความหมายว่า“ ผู้ที่อยู่บนภูเขาสูง” ซึ่งหากเราจะเรียกพวกเขาว่าชาวอาข่าหรืออักข่าก็น่าจะมีความภูมิใจมากกว่าเรียกพวกเขาว่าอีก้อ นั่นเอง ปัจจุบันชาวเขา
เผ่าอีก้อมีกระจายอยู่ตามดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทยประมาณ 20,000 -30,000 คน. 

 

 

 

 ที่มาของข้อมูล
    
            รุจพร ประชาเดชสุวัฒน์.  2550.  "อีก้อ".  ม.ป.ท. : ม.ป.พ.