ที่มาของข้อมูล
วิเวศ วัฒนสุข. 2549. 8 ทศวรรษดอกเอื้องเวียงพิงค์สายสัมพันธ์แห่งอารยธรรม.กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.
ลมุน พันธุมินทร์ นางสาวเชียงใหม่ ปี ๒๔๘๔ |
การประกวดสาวงามประจำปี ๒๔๘๔ ได้ดำเนินการประกวดภายมนงานฉลองรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับปีก่อนๆและมีการเปลี่ยนชื่อจากนางงามเชียงใหม่ มาเป็นการประกวด นางสาวเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยเวทีประกวดได้จัดที่หอประชุมโรงเรียนยุพราช สมัยพระยาธรรมธำรง เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด เวทีการประกวดได้จัดตกแต่งอย่าง สวยงาม ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดในความงดงามตามธรรมชาติ โดยเบื้องหลังฉากเป็นน้ำตกอยู่กลางเวที สาวงามผู้เข้าประกวดทั้ง ๒๗ คนต่างเยื้องกรายบนเวทีด้วยชุดประกวดเสื้อ แขนกุดคล้องคอ กางเกงเหนือเข่า ที่ใช้ประกวดเป็นปีแรก |
|
|
สาวงามผู้ชนะใจกรรมการในค่ำคืนการประกวด ได้แก่ นางสาว ลมุน พันธุมินทร์ สาวเชียงใหม่ผู้มีเชื้อสายพม่าได้เป็นนางสาวเชียงใหม่ ๒๔๘๔ ท่ามกลางเสียงเชียร์กึกก้อง พร้อมรองอีก ๓ นางสาว โดยมีคุณเชื้อ ค้อคงคา ผู้พิพากษา เป็นผู้ส่งเข้าประกวด ลมุน พันธุมินทร์ ได้สมรสเมื่อ ปี ๒๕๐๒ ในขณะเปิดร้านขายของพื้นเมืองชื่อร้าน "เอื้องเหนือ" ตั้งอยู่แถวถนนท่าแพหน้าวัดเชตวัน นายอรุณ แซ่โฮ้ว ผู้เป็นสามี เป็นชาวจังหวัดสระบุรีซึ่งได้เดินทางมาเชียงใหม่เมื่อปี ๒๔๘๓ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด ๓ คน คือ นางสาวอุบลรัตน์ พันธุมินทร์ เป็นอาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนรองเป็นบุตรชาย ชื่อ นายอัมรินทร์ พันธุมินทร์ เป็นรองศาสตราจารย์ ส่วนคนสุดท้องชื่อ นายอมรฤทธิ์ พันธุมินทร์เป็น อาจารย์สอนดนตรีอยู่ที่มิวสิคย่านวัดเจดีย์หลวง |
ปัจจุบันคุณลมุนได้เสียชีวิต เมื่อปี ๒๕๒๙ ด้วยโรคมะเร็งตับ โดย อาจารย์ อุบลรัตน์ พันธุมินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงคุณ ลมุนผู้เป็นแม่ถึงครั้งอดีต"ร้านเอื้องเหนือ เป็นร้านที่อยู่ติดกับร้านพัชรินทร์ ร้านเพลินพิศค่ะ แล้วทางผู้ใหญ่ ก็คือ คุณสกล ศาสตราภัยซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารออมสินภาค ๕ จะมาขอความร่วมมือเกือบทุกปี ว่าให้ช่วยหาสาวงามไปร่วมการประกวดนิดหนึ่ง คือ ทางร้านก็ให้ความร่วมมือเท่าที่จะทำได้ ก็คือช่วยพาคนไปประกวด แต่ทางร้าน ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจ จึงไม่ได้คิดค่าอะไรกับผู้เข้าประกวดหรอกค่ะ ส่วนคุณแม่พื้นเพเดิมเป็นชาวเชียงใหม่ อาศัยอยู่แถวท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ข้างวัดเชตวัน และคุณแม่ก็จะเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัว สมัยเด็กๆท่านไม่ได้ไปเรียนหนังสือเหมือนกับคนอื่นเพราะทางบ้านจะหวง แต่คุณพ่อและคุณแม่ของท่านเองก็จะสอนให้เองที่บ้าน ดังนั้นคุณแม่จึงเป็นคนที่ค่อนข้างเชี่ยวชาญเรื่องหนังสือพอสมควรค่ะ พอเข้าสู่วัยสาวด้วยความงามตามแบบฉบับสาวชาวเหนือ นางสาวลมุนจึงได้รับการทาบทามให้เข้าประกวดนางสาวเชียงใหม่ ่ปี ๒๔๘๔ จนได้ตำแหน่งในที่สุด "คุณแม่ท่านเคยเป็นนักเขียน เคยเขียนเรื่องสั้นลงหนังสือพิมพ์ แต่งหนังสือ แต่ช่วงหลังก็จะไปอยู่ชมรมนักกลอน สมัครเล่นของทางภาคเหนือด้วยคุณแม่ยังเป็นอาจารย์สอนเปียนโน และยังสามารถีขิมได้อีกด้วย และการที่คุณแม่ได้ไปเข้าประกวดนางสาวเชียงใหม่ ได้นั้น ก็เพราะว่าผู้ใหญ่ทางจังหวัดมาขอความร่วมมือซึ่งตอนนั้นท่านเองก็เพิ่งจะโตเป็นสาว อายุราวๆ ประมาณ ๑๔ -๑๕ ปี สมัยนั้นก่อนการประกวด ก็ไม่ได้มีการเตรียมตัวอะไรก่อนเลยสาวๆสมัยนั้นค่อนข้างจะขี้อายและปีที่คุณแม่ได้ประกวดนั้นก็เป็นปีแรกที่ได้ใส่ชุดเดินชายหาด ก็คือไม่ได้ใส่ชุดไทย ยาวๆเหมือนทุกปีที่ผ่านมา |
|
และสมัยนั้นก็ได้จัดก็ได้จัดการประกวดที่ดรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ หลังจากเป็นนางสาวเชียงใหม่หลายปีคุณลมุนได้เข้าประกวดความงามอีกครั้งหนึ่งด้วยความบังเอิญ ในขณะไปร่วมงาน แห่งหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ที่ผู้จัดได้เชิญสุภาพสตรีผู้ร่วมงานเข้าประกวดและคุณลมุนได้เป็น นางงามเฮฮริสเคอติส ปี ๒๔๙๙ ไปในที่สุดได้รับถ้วยรางวัลเป็นขันเงิน ขณะอายุ ประมาณ ๒๗ ปี ในช่วงนั้นเอง แม้จะมีชายหนุ่มเข้ามาชอบพอมากมาย แต่คุณลมุนครองความโสดมาถึง ๒๐ ปี จึงได้สมรสกับนายอรุณ แซ่โฮ้ว ในปี ๒๕๐๒ "คุณพ่อเอง ท่านก็สีไวโอลินเป็นและ ยังมาสมัครเรียนเปียนโนกับคุณแม่อีกด้วย ตอนนั้นคุณแม่ได้สอนเปียนโนอยู่ที่บ้านแต่ลูกศิษย์จะมีเยอะส่วนคุณพ่อก็หลังจากเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนที่โรงเรียนเจินเซิน และตอนหลังก็มาเกษียณ อายุที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ค่ะ พอมาถึงช่วง พ.ศ ๒๕๒๙ คุณแม่เริ่มมีอาการเจ็บป่วยที่กำเริบจากโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ค่ะ และเสียชีวิตในปีเดียวกัน ซึ่งท่านมีความเข้มแข็งมาก ส่วนการเป็น นางสาวเชียงใหม่ ท่านไม่ได้เปิดตัวเท่าไหร่ว่าเป็นนางงาม เพราะเลือกที่จะใช้ชีวิตเรียบง่ายมากกว่าค่ะ" |